วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ถอนทะเบียนบริษัท ห้างหุ้นส่วน ร้าง ไม่ได้ยื่นงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ระยะนี้เป็นระยะที่บริษัททั้งหลายที่มีรอบปีบัญชี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ต้องจัดเตรียมเรื่องการส่งงบการเงิน หลายบริษัทได้ส่งงบการเงินแล้ว แต่ส่วนมากยังอยู่ระหว่างเตรียมการนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณารับรองงบการเงิน เพื่อส่งให้ทางราชการให้ทันภายในกำหนดเวลา ยกเว้นบริษัทที่เลิกกันแล้ว สำหรับการไม่ส่งงบการเงินอาจจะมีผลทำให้บริษัทต้องเลิกไปก็ได้
บริษัททั้งหลายเมื่อจดทะเบียนตั้งขึ้นแล้ว ต่างก็มีวัตถุประสงค์จะประกอบธุรกิจค้าขาย และส่วนมากตั้งขึ้นโดยไม่คิดที่จะเลิกบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจต้องเลิกกันทั้งโดยสมัครใจและไม่สมัครใจ ดังนี้
1.เลิกตามข้อกำหนดที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัท
(1.1) เมื่อมีข้อบังคับกำหนดกรณีที่จะเลิกกันและเกิดกรณีนั้น เช่นมีข้อกำหนดว่าให้เลิกบริษัท ถ้าผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมติดต่อกันห้าปี ถ้าเกิดการขาดทุนสะสมติดต่อกันห้าปี บริษัทเป็นอันเลิก
(1.2) บางบริษัทอาจกำหนดระยะเวลาไว้ เช่น บริษัทตั้งขึ้นมีระยะเวลาสิบปี เมื่อครบสิบปีบริษัทเป็นอันเลิก
(1.3) บางบริษัทจดทะเบียนเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อทำกิจการเสร็จ เช่น บริษัทตั้งขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างสนามบิน เมื่อสร้างสนามบินเสร็จบริษัทเป็นอันเลิก
2.เลิกเมื่อมีประชุมมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท
มติพิเศษ คือ มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเห็นชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ให้เลิกบริษัท โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมด และได้ลงมติยืนยันมตินั้นอีกครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งที่สอง ซึ่งจัดให้มีการประชุมในเวลาไม่น้อยกว่าสิบสี่วันแต่ไม่เกินหกสัปดาห์นับแต่วันประชุมครั้งแรก และลงมติยืนยันมติเดิมด้วยเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมด
3.เมื่อบริษัทล้มละลาย
4.เมื่อศาลสั่งให้เลิก



ในกรณีศาลสั่งให้เลิกจะต้องเกิดจากกรณีผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ยื่นฟ้องให้ศาลสั่งโดยต้องมีเหตุมาจากกรณีดังนี้ คือ
(4.1) ทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
(4.2) บริษัทไม่เริ่มทำการภายในหนึ่งปีนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงหนึ่งปี
(4.3) ถ้าบริษัทยังคงดำเนินการต่อไป ก็มีแต่จะขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีทางที่จะฟื้นตัวได้
(4.4) ถ้าผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนไม่ถึงเจ็ดคน
5.เลิกเพราะนายทะเบียนเพิกถอนหรือขีดชื่อออกจากทะเบียน
เมื่อมีพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ออกใช้บังคับ กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้นายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เช่น กรณีจัดตั้งบริษัทเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทที่ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนหรือขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน คือ การถอนทะเบียนบริษัทร้าง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานและผลดังนี้ คือ
(1) บริษัทที่มิได้ทำการค้าหรือประกอบการงานแล้ว เช่น ตั้งบริษัทขึ้นมาทำกิจการภัตตาคาร แต่เปิดไปได้สักพักก็หยุดกิจการ ไม่ได้ประกอบการค้าขายอันใดมาตลอด กรณีเช่นนี้เข้าข่ายเป็นบริษัทร้าง ในทางปฏิบัติไม่มีทางที่นายทะเบียนจะไปสอดส่องคอยดูว่า บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนยังคงทำมาค้าขายหรือไม่ เพราะบริษัทที่จดทะเบียนมีมากมายหลายแสน จึงมีการกำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติว่า ถ้าบริษัทใดไม่ส่งงบการเงินติดต่อเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน จะถือว่าบริษัทดังกล่าวมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการงานแล้วจึงเข้าข่ายเป็นบริษัทร้าง

(2) เมื่อพิจารณาได้ว่าเป็นบริษัทร้าง นายทะเบียนต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ สรุปได้คือ มีหนังสือสอบถามไปยังบริษัทว่ายังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ ถ้าจดหมายสอบถามฉบับแรกยังไม่ได้คำตอบ อีกไม่เกินสิบสี่วันนายทะเบียนต้องมีจดหมายสอบถามส่งไปเป็นครั้งที่สอง ถ้าบริษัทแจ้งว่าไม่ได้ทำการค้าขายแล้ว หรือไม่ได้รับคำตอบภายในหนึ่งเดือนนับแต่ส่งจดหมายฉบับที่สองไป ก็ต้องทำเป็นประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เมื่อพ้นกำหนดสามเดือนบริษัทดังกล่าวจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและต้องเลิก เมื่อถึงกำหนดเวลาสามเดือนบริษัทไม่ได้แจ้งข้อมูลเป็นอย่างอื่น จะลงประกาศในราชกิจจานุเบิกษา แจ้งรายชื่อบริษัทที่ถูกถอนทะเบียน บริษัทดังกล่าวมีผลเป็นอันเลิกเมื่อประกาศในพระราชกิจจานุเบิกษา
(3) ความรับผิดของกรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นกรณีบริษัทถูกถอนทะเบียนเพราะเป็นบริษัทร้าง บริษัทที่ถูกถอนทะเบียนดังกล่าวและมีผลเป็นอันเลิกล้มตามกฎหมาย แต่ไม่มีผลต่อความรับผิดของกรรมการผู้จัดการหรือผู้ถือหุ้น ถ้าบุคคลเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างไรก่อนที่บริษัทจะถูกเพิกถอนทะเบียน ก็ยังคงมีความรับผิดชอบเช่นเดิมเสมือนบริษัทยังไม่เลิกค้างไว้ตลอดไปจนกว่าจะเลิกกิจการ
(4) การฟื้นบริษัทที่ถูกถอนทะเบียน เพราะเป็นบริษัทร้าง
บริษัทที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเพราะเป็นบริษัทร้าง ยังอาจกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ ที่เรียกกันว่า การจดชื่อบริษัทเข้าสู่ทะเบียน การขีดชื่อออกจากทะเบียนอาจทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ เช่น บริษัทยังเป็นหนี้อยู่เจ้าหนี้อาจเสียหาย หรือบริษัทยังคงประกอบกิจการค้าขายอยู่แต่ไม่ส่งงบการเงินและไม่ได้รับจดหมาย เพราะย้ายที่อยู่ซึ่งเป็นความผิดก็ต้องว่ากันไปตามความผิดนั้น กรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขอให้ศาลสั่งให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนดังเดิมได้ เมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนแล้ว ถือว่าบริษัทไม่เคยถูกขีดชื่ออกจากทะเบียนเลย คือ ยังเป็นนิติบุคคลตลอดมา
6.การถอนทะเบียนบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจ
มีหลายบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นมาโดยผู้จดทะเบียนมิได้ตั้งใจประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย เช่น ใช้ชื่อถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์แทนคนต่างด้าว
การที่นายทะเบียนจะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลสั่งให้เลิกบริษัท โดยถือว่าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในหนึ่งปี หรือหยุดทำการเกินกว่าหนึ่งปี อาจมีปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาทางปฏิบัติบางประการ กรณีเช่นนี้นายทะเบียนใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดำเนินการเพิกถอนก็น่าจะกระทำได้ แต่นายทะเบียนคงไม่ถนัดนักกับกฎหมายฉบับนี้ หนทางที่น่าจะดำเนินการได้อย่างถนัดคือ การใช้อำนาจถอนทะเบียนบริษัทร้างเพราะไม่ประกอบกิจการ หากจะอ้างว่ามีการส่งงบการเงินไม่เคยขาด ก็ต้องดูงบการเงินว่าได้ประกอบกิจการอะไรหรือไม่ ตั้งแต่ตั้งบริษัทมามีรายรับรายจ่ายอย่างไร

ถ้านายทะเบียนใช้อำนาจถอนทะเบียนบริษัทดังกล่าวโดยถือว่าเป็นบริษัทร้าง ไม่ต้องเกรงว่าจะถูกถอนเป็นนายทะเบียนร้าง เพราะการดำเนินการเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คงจะมีส่วนราชการหลายแห่งเป็นกองเชียร์สนับสนุน
การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้าง โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
หลังจากไม่มีการเคลื่อนไหวทะเบียนพาณิชย์ ครบ 3 ปี เพื่อเคลียนิติบุคคลจดทะเบียนที่ไม่เคลื่อนไหว
บทความ ที่มา - คอลัมน์ คลื่นความคิด  โดย สกล หาญสุทธิวารินทร์  มติชนรายวัน วันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9918

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น